การออกแบบงานวิศวกรรมโครงสร้าง เหล็กรูปพรรณ (STRUCTURAL STEEL ENGINEERING DESIGN หรือ SSE)
หัวข้อในวันนี้จะเกี่ยวข้องกันกับหัวข้อ การออกแบบงานวิศวกรรมโครงสร้าง เหล็กรูปพรรณ (STRUCTURAL STEEL ENGINEERING DESIGN หรือ SSE) นะครับ
ในวันนี้ผมจะขออนุญาตมาพูดต่อถึงหัวข้อที่ (2) และ (3) ต่อจากโพสต์เมื่อวานนะครับ
ก่อนอื่นผมขอทวนคำถามก่อนสักนิดนะครับ “ประเภทของโครงถักใดที่จะสามารถรับ นน ในแนวดิ่งได้ดีกว่ากัน ?” และเมื่อวานผมได้อธิบายไปแล้วว่าเราควรที่จะสามารถทำการแบ่งโครงถักออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
(1) แบบที่ TOP และ BOTTOM คอร์ดนั้นมีการวางตัวขนานกันตามแนวราบ แต่ เรียบสม่ำเสมอตลอดความยาวของโครงถัก
(2) แบบที่ TOP และ BOTTOM คอร์ดนั้นมีการวางตัวขนานกันตามแนวเอียง แต่ เรียบสม่ำเสมอตลอดความยาวของโครงถัก
(3) แบบที่ TOP และ BOTTOM คอร์ดนั้นไม่ได้วางตัวขนานกัน ดังนั้น ท้องของโครงถักจะมีความเรียบสม่ำเสมอ แต่ ที่ด้านบนจะเกิดเป็น SLOPE ไม่สม่ำเสมอตลอดความยาวของโครงถัก
ซึ่งเมื่อวานผมได้ทำการอธิบายถึงหัวข้อที่ (1) ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นในวันนี้ผมจะขออนุญาตมากล่าวถึงหัวข้อที่ (2) และ (3) กันต่อนะครับ
จริงๆ แล้วเราสามารถที่จะนำหลักการที่ผมกล่าวถึงในห้อข้อที่ (1) มาใช้สำหรับโครงถักในหัวข้อที่ (2) และ (3) ได้นะครับ เพราะ ต้องถือว่าหลักการๆ นี้เป็นหลักการโดยทั่วไปของโครงสร้างรับแรงดัดทุกๆ ประเภท (เพื่อนๆ ดูรูปประกอบได้นะครับ) แต่ สาเหตุที่ผมตั้งใจจะนำหัวข้อที่ (2) และ (3) แยกออกมาเป็นเพราะว่าจะมีอีกหลักการหนึ่งที่เพื่อนๆ ควรต้องทราบหากว่าโครงถักของเรานั้นมี “ความเอียงตัว” เกิดขึ้น เพราะ “ความเอียง” หรือว่า “SLOPE” ที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้การแตกแรงในชิ้นส่วนนั้นแปรเปลี่ยนไป กล่าวคือ หากว่าระนาบความเอียงในโครงถักนั้นเกิดขึ้นมากกว่าหรือเท่ากันกับมุม 45 องศา ก็จะทำให้การแตกแรงในชิ้นส่วนทั้งใน แนวราบ และใน แนวดิ่ง นั้นออกมามีค่าเท่ากัน
ซึ่งโดยทั่วไปเราจะหาหลังคาใดๆ ที่มีมุมเอียงถึง 45 องศา นั้นได้ยากมากๆ ดังนั้นหลักการที่จะมี “ประสิทธิภาพ” มากที่สุดในการที่จะบอกกับเราว่าโครงถักใดที่จะมีประสิทธิภาพในการรับแรงได้มากที่สุด ก็ยังคงเป็นเรื่องหลักการของ “DEPTH” อยู่ดีนะครับ นี่เองคือสาเหตุว่าเหตุใดผมจึงได้เน้นย้ำกับเพื่อนๆ ไปว่าประเด็นที่เรากำลังพูดถึงในที่นี้จะเป็นเฉพาะกลไกใน การรับกำลัง ของตัวโครงถักเท่านั้นนะครับ เพราะ เราต้องไม่ลืมว่าในความเป็นจริงนั้นยิ่งเราเพิ่ม DEPTH ของโครงถักให้มีค่าเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ชิ้นส่วนต่างๆ ภายในโครงถักของเราก็จะมีความชะลูดเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นในการออกแบบจริงๆ นั้นยังมีเหตุและปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ทางผู้ออกแบบนั้นจำเป็นที่จะต้องนำมาคำนึงถึงในการออกแบบด้วยนะครับ
หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ